นักวิชาการชี้ “บุหรี่ไฟฟ้า” ไม่ได้เป็นปัจจัยทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงและไม่ช่วยเลิกบุหรี่มวน

นักวิชาการชี้ “บุหรี่ไฟฟ้า” ไม่ได้เป็นปัจจัยทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงและไม่ช่วยเลิกบุหรี่มวน

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากการที่มีการกล่าวอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถใช้เลิกบุหรี่ได้ และเป็นเหตุให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงในปีพศ.2564นั้น หากพิจารณาข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปีพศ.2534-2564 จะพบว่าอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

ก่อนที่จะมีบุหรี่ไฟฟ้าลักลอบเข้ามาใช้ในประเทศไทยราวปีพ.ศ.2550 จึงมีการพยายามป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยออกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในปีพ.ศ.2557 ในทางตรงข้ามความชันของกราฟลดลงตั้งแต่ปีพ.ศ.2550 บุหรี่ไฟฟ้าน่าจะเป็นสาเหตุทำให้การลดอัตราการสูบบุหรี่ชะลอตัวลงกว่าที่ควรจะเป็น สอดคล้องกับข้อมูลของ Euromonitor ที่พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่บุหรี่ไฟฟ้าจะมีการจำหน่ายในปีค.ศ.2014 นั่นจึงเป็นเหตุผลให้อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ ต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อชักจูงคนที่เลิกสูบบุหรี่ และเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อคงลูกค้ายาสูบต่อไป

“ทั้งนี้ NASEM (National Academies of Science, Engineering and Medicine, USA) ได้รายงานว่า 80% ของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่จะหันมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน ในขณะที่กลุ่มที่ใช้วิธีอื่นเพื่อเลิกบุหรี่ (Nicotine Replacement Therapy, NRT) มีเพียง 9% ที่ยังสูบบุหรี่ บ่งชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้หยุดนิโคติน เป็นเพียงหันมาเสพนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแทน และสรุปว่ากลยุทธการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาเลิกบุหรี่มวนในผู้ใหญ่ต้องแลกด้วยการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนซึ่งเป็นนักสูบหน้าใหม่ ยังไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ซึ่งงานวิจัยชี้ชัดว่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อปอด หัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะจะทำลายสมอง ตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์จนถึงอายุ 25 ปี”

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวว่า ประเทศไทยจึงไม่ควรยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะนั่นต้องแลกกับอนาคตของเยาวชน ซึ่งอาจจะเข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้ ดังบทเรียนที่กำลังมีวิกฤตการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนของประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และนิวซีแลนด์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่อนุญาตให้มีบุหรี่ไฟฟ้าทั้งสิ้นแม้จะห้ามขายในเยาวชน ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดของประเทศไทยคือ ‘ห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเยาวชนไทยอย่างแท้จริง’ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด และประเทศไทยควรเร่งเข้าร่วม ‘พิธีสารเพื่อกำจัดการค้าที่ผิดกฎหมายในผลิตภัณฑ์ยาสูบ’ (Protocol to Eliminate Illicit Trade in Tobacco Products) ในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ซึ่งการเข้าร่วมพิธีสารฯ จะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามและตรวจสอบ (Track and Trace) ตั้งแต่ต้นทางการผลิต การกระจายสินค้า จนไปถึงร้านค้าปลีก โดยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายและได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการกำจัดต้นเหตุของการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายจากอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ

รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทร: 061-7244411 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Press Release
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ข่าวเผยแพร่: วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2565 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)


พิมพ์