บุหรี่ไฟฟ้าทำให้สูญเสีย เสี่ยงโรคร้าย เสี่ยงตายก่อนวัยอันควร

บุหรี่ไฟฟ้าทำให้สูญเสีย เสี่ยงโรคร้าย เสี่ยงตายก่อนวัยอันควร

นักวิชาการเตือน ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้สูญเสียอย่างมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ เสี่ยงโรคร้ายแรง เสี่ยงตายก่อนวัยอันควร ชี้รัฐต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่ในประเทศไทย โดยคงกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามขาย บุหรี่ไฟฟ้า และเร่งบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบฝ่าฝืนอย่างจริงจัง

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การสร้างความตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่ประชาชน ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะมีผู้บริหารระดับสูงในคณะรัฐบาลบางท่านได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากผู้ส่งเสริมบุหรี่ไฟฟ้าจนเกิดการเคลื่อนไหวที่จะปลดล็อคบุหรี่ไฟฟ้าจากสินค้าที่ถูกห้ามนำเข้าและห้ามขายในประเทศไทย โดยน่าเป็นห่วงมากถ้าเยาวชนสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างเสรี ไปลองเสพบุหรี่ไฟฟ้าที่มีฤทธิ์เสพติดสูงและมีอันตรายต่อสุขภาพรวดเร็วกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม ซึ่งเสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบเฉียบพลันชนิดร้ายแรงจากการถูกทำลายด้วยบุหรี่ไฟฟ้า (Electronic-cigarette or Vaporing product use-Associated Lung Injury, EVALI) จนทำให้คนหนุ่มคนสาวเสียชีวิต ดังรายงานในประเทศสหรัฐอเมริกา
“จากผลงานวิจัย ‘การประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย’ ของ รศ.ดร.ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ และคณะ โดยใช้แบบจำลองเพื่อประเมินต้นทุนความเจ็บป่วย ครอบคลุมต้นทุนทางตรงค่ารักษาพยาบาล ต้นทุนทางอ้อมจากการขาดงานเพื่อมารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล และต้นทุนทางอ้อมจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พบว่า ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสเกิดโรค EVALI และโอกาสของการเป็นผู้สูบบุหรี่ในอนาคตเพิ่มขึ้น 3.5 เท่าของผู้ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเพศขายมีความน่าจะเป็นในการเป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าเพศหญิง (19.15% : 0.87%) ทั้งนี้การประเมินจากแบบจำลอง พบว่า ผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุ 15 ปี มีเพียง 27% เท่านั้นสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ที่อายุเฉลี่ย 41 ปี และจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อคน 5,146,644 บาท ในเพศหญิง และ 5,438,790 บาท ในเพศชาย” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวสรุปว่า ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ เสี่ยงโรคร้ายแรง และเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จึงมีความจำเป็นสำคัญที่รัฐต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่ในประเทศไทย โดยคงกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และเร่งบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบฝ่าฝืนอย่างจริงจัง

รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทร: 061-7244411 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

Press Release
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ข่าวเผยแพร่: วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)


พิมพ์