ศจย.และเครือข่ายคณาจารย์สาธารณสุข แถลงถึงรัฐบาลชุดใหม่ “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ‬

ศจย.และเครือข่ายคณาจารย์สาธารณสุข แถลงถึงรัฐบาลชุดใหม่ “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ‬

ในงานประชุมวิชาการ “นักจัดการปัจจัยเสี่ยงประเด็นการควบคุมยาสูบ” ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้จัดการหน่วยวิชาการบ่มเพาะเครือข่ายนักจัดการปัจจัยเสี่ยงและกรรมการวิชาการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พร้อมด้วยภาคีคณาจารย์จากคณะและสาขาสาธารณสุขศาสตร์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ

อันได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี และวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก ภายใต้สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจน ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ขอร่วมแถลงการณ์ถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะจัดตั้งว่า ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของสังคมไทย คือ ปัญหาสังคมและสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเข้าถึงและแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ตลอดจนปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการเสพติดในระยะยาวที่ยังไม่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ชัดถึงผลดีต่อสุขภาพ ในทางตรงกันข้ามกลับมีงานวิจัยที่กล่าวถึงแต่ผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งทางเครือข่ายฯเราไม่ต้องการให้สุขภาพของเด็กและเยาวชนไทยตกเป็นเหยื่อทาสการตลาดของ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งทางเครือข่ายฯยืนยันถึงความเคารพในสิทธิและเสรีภาพของเด็กและเยาวชน และหลักการนี้ไม่ควรถูกนำมาใช้ในการล่อลวงเด็กและเยาวชนให้ตกเป็นเหยื่อของ บุหรี่ไฟฟ้า โดยมีนัยยะมุ่งเป้าแสวงหาประโยชน์จากเหยื่อที่เป็นเด็กและเยาวชนไทย ดังคำขวัญของวันงดสูบบุหรี่โลกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2566 ที่ว่า “บุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษ เสพติด อันตราย” จุดมุ่งหมายสำคัญของเครือข่ายฯ ในวันนี้ ต้องการมุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในสุขภาพอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน โดยทางเครือข่ายฯมีข้อเสนอแนะต่อสาธารณะและรัฐบาลชุดใหม่ ดังต่อไปนี้

ขอให้คงมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เพราะจากการทบทวนมาตรการของประเทศต่าง ๆ พบว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่
ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเฝ้าและระวังบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์และไม่เรียกรับผลประโยชน์ใดๆจากกรณีปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า
รัฐบาลควรเร่งเข้าร่วมการลงนามในพิธีสาร ว่าด้วยการขจัดการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ขององค์การอนามัยโลกเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายในประเทศและเป็นการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาในระดับนานาชาติ
เร่งรณรงค์และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ทุกภาคส่วน ให้ทราบและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากกลยุทธ์การตลาดล่าเหยื่อเยาวชน และการแทรกแซงรูปแบบต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้า โดยบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรการเรียนสำหรับนักเรียนตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา
อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ทั้งภาคการเมือง ภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้เยาว์และเยาวชนมากกว่าผลกำไรและภาษีที่จะได้รับจากบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นขอให้มีนโยบายคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย”

Credit : ‪https://www.matichon.co.th/publicize/news_3983549


พิมพ์